Published December 20, 2023

สวัสดีครับ ผมชื่อตุลย์นะครับ หากยังจำกันได้ ผมเคยแชร์เรื่องราวเกี่ยวการเรียนการสอนปริญญาโทสาขานิติศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัยซูริคไปเมื่อครั้งที่แล้ว สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่านไม่เป็นไรครับ สามารถไปติดตามที่ link นี้ได้เลยครับ: https://www.atss-swiss.org/post/thitiwoottechapunmaster-sdegreestudyexperienceattheuniversityofzurich แต่ในส่วนของวันนี้นั้นเราจะมาพูดคุยกันเรื่องเบา ๆ เกี่ยวกับซูริค (Zürich) ในฐานะที่เป็นเมืองที่ผมเคยไปใช้ชีวิตอยู่ระหว่างศึกษาปริญญาโทเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งนอกจากนี้แล้วยังเป็นเมืองที่มีความงดงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าค้นหาจะน่าสนใจแค่ไหนเรามาเที่ยวทิพย์ไปพร้อมกันตรงนี้ได้เลยครับ

ในช่วงเดือนเมษายนทางการซูริคจะนำดอกกุหลาบมาประดับไว้ในบ่อน้ำพุทั่วเมืองเป็นการต้อนรับการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิ

หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับทัศนียภาพอันงดงามของนครซูริค เนื่องจากเป็นเมืองที่มักจะไปปรากฏโฉมอยู่บนหน้าหนังสือและโฆษณาโปรโมตการท่องเที่ยวของสวิตเซอร์แลนด์บ่อย ๆ รวมถึงซีรี่ส์ดังหลาย ๆ เรื่อง นครซูริคเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ถ้าวัดในแง่ของประชากร (มีประชากรประมาณ 428,700 คน) เมืองนี้เป็นเมืองหลวงของรัฐ (Kanton) ซูริค (ชื่อเมืองกับชื่อรัฐเป็นชื่อเดียวกัน) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ถึงแม้จะไม่ใช่รัฐร่วมก่อตั้งประเทศ (ซูริคเข้าร่วมสมาพันธรัฐสวิสในปี 1351 นับเป็นรัฐอันดับที่ 6) แต่ซูริคก็นับว่าเป็นรัฐที่สำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ เพราะเป็นรัฐที่มี GDP สูงสุด จนถือว่าเป็น “เครื่องจักรทางเศรษฐกิจ” (Wirtschaftsmotor) ของประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญรัฐซูริคฉบับปี 1869 ยังเป็นรัฐธรรมนูญระดับรัฐฉบับแรกของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการรับรองประชาธิปไตยทางตรง (direkte Demokratie) ของประชาชน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบให้รัฐอื่น ๆ ปฏิรูปการเมืองในลักษณะเดียวกันตามในภายหลัง

ในวันแรกที่ผมก้าวเท้าออกจากสนามบินเพื่อเดินทางเข้าไปในตัวเมือง นอกจากระบบรถไฟสาธารณะที่สะดวกสบายแล้ว ผมยังจำได้ว่า สิ่งแรกที่ประทับใจเกี่ยวกับซูริคก็คือระบบรถราง (Tram) ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า นอกจากรูปร่างจะดูน่ารัก ใช้สะดวกสบาย และมีเครือข่ายโยงใยครอบเมืองอย่างเป็นระบบแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยครับ จริง ๆ แล้วรถรางเป็นระบบขนส่งมวลชนที่พบเห็นได้ทั่วไปในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ที่ผมประทับใจของซูริคก็เพราะว่าเป็นที่แรกที่ได้เปิดประสบการณ์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า เมืองแต่ละเมืองในสวิตเซอร์แลนด์จะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเมืองในประเทศไทยหรือประเทศใหญ่อื่น ๆ ในยุโรป ดังนั้น เขาจึงไม่ require ระบบขนส่งที่มีขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าหรือรถใต้ดิน กรณีของซูริคนั้นถึงขั้นว่ามีการลงประชามติ (Referendum/Volksabstimmung) ในปี 1973 ว่าจะเอาหรือไม่เอาระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งผลปรากฏว่า ประชาชนซูริคกว่า 70% บอกว่า “ไม่เอา” (Nein) โครงการจึงเป็นอันต้องพับไป

รถรางซูริค (ภาพจาก: https://www.stadt-zuerich.ch/vbz/en/index.html)

จุดจุดนึงที่รถรางหลายสายจะมา cross กัน และเป็นจุดที่มีทัศนียภาพงดงามก็คือป้าย “Bellevue” (ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “วิวสวย” ซึ่งก็สวยสมชื่อ) จากจุดนั้นเราสามารถใช้เวลาไม่นานเดินไปถึงทะเลสาบซูริค (Zürichsee) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของสวิตเซอร์แลนด์ มีเนื้อที่กว่า 88 ตารางกิโลเมตร และทอดยาวไปยัง 3 รัฐด้วยกัน ได้แก่ ซูริค ชวีซ (Schwyz) และซังต์กัลเลิน (St. Gallen) นอกจากน้ำที่ใสสะอาดแล้ว ทะเลสาบยังมีสวนสาธารณะร่มรื่นทอดไปตลอดฝั่งด้วย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนมักจะมาพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายกันในยามว่าง ในบางจุดจะมีฝูงหงส์แวะมาทักทายผู้มาเยือนให้ถ่ายรูปกันสวย ๆ ด้วย

ฝูงหงส์ริมทะเลสาบซูริค

(ภาพจาก: https://www.pinterest.ch/pin/335096028524408980)

จากทะเลสาบซูริคจะมีแม่น้ำประจำเมืองที่ต่อตรงจากทะเลสาบทอดยาวเข้าไปในเมืองก่อนจะเข้าไปบรรจบกับแม่น้ำอาเรอ (Aare) ที่เมืองบรุกก์ (Brugg) ซึ่งก็คือแม่น้ำลิมมัท (Limmat)

เราสามารถเดินจากทะเลสาบเลียบแม่น้ำเพื่อดื่มด่ำกลิ่มอายความคลาสสิคของเมืองซูริคได้เลย เพราะระหว่างทางเราจะผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญซึ่งเป็น landmark ของนครซูริคเยอะมาก สำหรับจุดชมวิวที่ผมแนะนำก็คือลาน Lindenhof จากจุดนี้เมื่อเราทอดสายตาลงไป เราจะได้เห็นความงดงามของแม่น้ำ และย่านเมืองเก่า (Altstadt) ที่รุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์แห่งยุคกลางไปพร้อมกัน Lindenhof นี้เอง เคยเป็นป้อมปราการเก่าของทหารโรมันมาก่อน ถูกสร้างขึ้นในช่วง 15 ปีก่อนคริสตกาล (15 BC) ภายหลังจากที่อาณาจักรโรมันพิชิตดินแดนแถบเทือกเขาแอลป์ได้แล้ว Easter Egg ที่สำคัญที่ลาน Lindenhof นี้ก็คือ (แบบจำลอง) ป้ายหลุมศพทหารโรมันที่ถือกันว่าเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการบันทึกชื่อเรียกเมืองซูริคในภาษาละตินว่า “Turicum” โดยสรุปก็คือ เมืองนี้ฝ่ายโรมันเป็นผู้ตั้งชื่อให้ แต่ต่อมาคนท้องถิ่นที่ไม่ได้พูดภาษาละตินเป็นภาษาแม่ได้เรียกแปร่งเพี้ยนกันต่อ ๆ มาจนกลายมาเป็นคำว่า Zürich (ในภาษาเยอรมันออกเสียงว่า “ซือริคช์”) ในปัจจุบัน ในรูปด้านล่างนี้ คือ ภาพถ่ายจากลาน Lindenhof ทอดลงไปยังมุมเมืองที่เป็นที่ตั้งของห้องสมุดกลาง (Zentralbibliothek) และหอจดหมายเหตุ (Stadtarchiv) เมืองซูริค ซึ่งรวบรวมเอกสารและบันทึกที่สำคัญในประวัติศาสตร์ รวมถึงโบราณวัตถุไว้สำหรับต้อนรับผู้สนใจเป็นจำนวนมาก

แบบจำลองป้ายหลุมศพทหารโรมันที่ Lindenhof ของจริงได้ถูกนำไปตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองซูริค (Landesmuseum Zürich)

(ภาพจาก: https://www.175jahre.uzh.ch/fakultaeten/weiter-denken/programm/zentraleveranstaltungen/felixundregula/stationen/lindenhof.html)

โบสถ์สำคัญประจำซูริคที่เป็นมุมมหาชนที่นักท่องเที่ยวมักจะมาถ่ายรูปกันมีอยู่ (หลัก ๆ) 4 แห่ง ได้แก่ โบสถ์ St. Peter โบสถ์ Fraumünster โบสถ์ Grossmünster และโบสถ์ Wasserkirche โดยทั่วไปโบสถ์ในซูริคถึงแม้จะดูเรียบง่าย ไม่ได้มีลวดลายหวือหวา แต่ก็ดูมีมนต์ขลังชวนค้นหา สำหรับคนที่ยังไม่ชินบางคนอาจจะแปลกใจว่า โบสถ์สวิสเมื่อมองจากด้านนอกก็ดูสวยดี แต่ทำไมด้านในกลับโล่ง ไม่ได้มีการประดับประดา ประหนึ่งว่ายังสร้างไม่เสร็จเลย คำตอบอยู่ที่การปฏิรูปศาสนาในซูริคในช่วงศตวรรษที่ 16 ครับ ซึ่งเกิดขึ้นจากการจัด event ชวนพระไปกินไส้กรอก!!

โบสถ์ Fraumünster (ซ้าย) และโบสถ์ St. Peter (ขวา)

โบสถ์ Grossmünster(ซ้าย) และโบสถ์ Wasserkirche (ขวา) โบสถ์ทั้ง 4 แห่งทั้งหมดนี้ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากของแม่น้ำ Limmat โดยมีสะพาน Münsterbrücke เชื่อม

โบสถ์ St. Peter ที่ผมมองแล้วจินตนาการว่ามันคือดวงตาของซูริค

อันนี้ต้องมีการเท้าความนิดหน่อยว่า การปฏิรูปศาสนาในดินแดนเยอรมันโดย Martin Luther ในปี 1517 ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการปฏิรูปศาสนาในที่อื่น ๆ ทั่วยุโรปด้วย โดยที่ซูริค บาทหลวง Huldrych Zwingli เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ตัวหลวงพ่อเองไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับของศาสนาที่กำหนดให้ทุกคน (ทั้งพระ ทั้งฆราวาส) ถือศีลอดในช่วงเทศกาลมหาพรต เพราะไม่ใช่ข้อบังคับที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์และเป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ทุกคนจึงมีสิทธิเลือกว่าจะถือศีลอดหรือไม่ จากนั้นหลวงพ่อเลยเริ่มเทศน์เผยแพร่แนวคิดออกไปสู่สาธารณชน แล้วคนที่มาเร่งให้การปฏิรูปสำเร็จเร็วขึ้นก็คือ Christoph Froschauer เจ้าของโรงพิมพ์ “Orell Füssli” ประจำเมืองซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกัน ในวันที่ 9 มีนา 1522 ซึ่งเป็นช่วงถือศีลอดพอดี นาย Froschauer คนนี้ได้จัด event ชวนเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคนซึ่งมีบาทหลวง Zwingli ด้วย ให้มาร่วมกินไส้กรอกที่บ้าน เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ประท้วงข้อบังคับถือศีลอด แล้วจงใจปล่อยข่าวออกไปให้เข้าหูฝ่ายบ้านเมืองและศาสนจักร เหตุการณ์นี้เรียกตรงตัวว่า “Wurstessen” (กินไส้กรอก) และถือเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปศาสนาในซูริค ต่อมาศาสนจักรเลยเรียกร้องให้ฝ่ายบ้านเมืองของซูริคลงโทษทุกคนที่ฝ่าฝืนข้อบังคับถือศีลอด แต่ครั้งนี้กลับไม่ง่าย เพราะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากจนเกิดความไม่สงบ สุดท้ายสภาซูริคได้ลงมติให้การถือศีลอดเป็นไปโดยสมัครใจ ยกเลิกการบังคับบูชานักบุญ ตามมาด้วยการปลดรูปและแท่นบูชานักบุญ รวมถึงเครื่องประดับประดาที่ดูหรูหราต่าง ๆ ออกไปจากโบสถ์ ทำให้โบสถ์ในซูริค (ที่ไม่ใช่โบสถ์คาทอลิก) มีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน หลังจากนั้น บาทหลวง Zwingli และทีมงานก็ได้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มออกมาเป็นภาษาเยอรมัน โดยมี Christoph Froschauer เป็นผู้จัดพิมพ์ในปี 1531 และ “ไบเบิลซูริค” (Zürcher Bibel) ฉบับนี้เองก็กลายมาเป็นไบเบิลฉบับแรกของโลกที่เป็นภาษาเยอรมัน (เสร็จก่อนงานแปลฉบับสมบูรณ์ของ Martin Luther ฝั่งเยอรมัน 3 ปี) และยังเป็นไบเบิลที่มีการวาดภาพประกอบเรื่องราวตามพระคัมภีร์ลงไปด้วย นับเป็นแนวคิดที่ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนาในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก สำหรับผู้สนใจ ในโบสถ์ Grossmünster มีคลังเก็บพระคัมภีร์เก่าอยู่ที่ชั้นบน ซึ่งเราสามารถเข้าไปเยี่ยมชมไบเบิลฉบับตำนานนี้ได้ครับ

โดยส่วนตัว โบสถ์ในซูริคที่ผมชอบที่สุด คือ “โบสถ์กลางน้ำ” (Wasserkirche) ที่อยู่ติดกับสะพาน Münsterbrücke และโบสถ์ Grossmünster ถ้าผมจำไม่ผิด โบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในซูริคซึ่งสร้างประมาณปี 1000 ขึ้นบนบริเวณที่เคยเป็นเกาะกลางแม่น้ำเพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญสองพี่น้อง Felix และ Regula ทุกวันนี้จะไม่ได้เห็นโบสถ์ตั้งตระหง่านอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำแล้ว เพราะมีการต่อเติมชายฝั่งแม่น้ำยื่นออกไปให้บรรจบกับที่ตั้งของตัวโบสถ์ เนื่องจากเกาะเดิมถูกน้ำซัดกัดเซาะจนผุพังเข้ามาเรื่อย ๆ ตามตำนานเล่าว่า ในปี 286 Felix และ Regula ถูกทหารโรมันจับมาทรมานเพื่อบังคับให้ละทิ้งศรัทธาในคริสต์ศาสนา เมื่อไม่สำเร็จจึงถูกประหารบนเกาะกลางน้ำนั้น ตามตำนานเล่าไว้ว่า เมื่อถูกบั่นหัว ร่างของสองพี่น้องก็ยังคงลุกขึ้นมาประคองศีรษะของตัวเองไว้ในมือก่อนจะเดินขึ้นไปบนเนินเขาที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อภาวนาต่อพระเจ้าก่อนจะสิ้นใจลง (เนินเขานั้นเองได้กลายมาเป็นที่ตั้งของโบสถ์ Grossmünster ในปัจจุบัน) ต่อมา Felix และ Regula ได้กลายมาเป็นนักบุญผู้พิทักษ์ (Schutzpatrone) ของซูริค แต่ภายหลังจากที่มีการปฏิรูปศาสนาในซูริคดังที่เล่าไปก่อนหน้านี้ โบสถ์ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นอันมีคุณูปการสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยซูริคในปี 1833 นอกจากความมินิมอลที่ดูมีเสน่ห์แล้ว สิ่งที่ผมประทับใจเกี่ยวกับโบสถ์นี้ก็คือการเป็นสถานที่ที่มักจะมีคนมาเล่นดนตรีเปิดหมวกเป็นประจำซึ่งโถงด้านหน้าโบสถ์นี้ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เสียงเพลงที่บรรเลงออกมาไพเราะกังวาลจับใจ ภาพที่ผมไม่มีวันลืมเลย ก็คือ ในวันสุดท้ายที่ผมอาศัยอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อผมก้าวเท้าเดินผ่านหน้าโบสถ์เพื่อจะไปอำลาสถานที่ที่คุ้นเคย อยู่ ๆ นักดนตรีก็บรรเลงเพลง “Time To Say Goodbye” ของ Andrea Bocelli & Sarah Brightman ขึ้นมาโดยที่ไม่มีการนัดหมาย ราวกับว่าที่แห่งนี้รับรู้ถึงความผูกพันที่เรามีและยินดีที่จะฝากความตรึงใจในค่ำคืนสุดท้ายก่อนที่จะต้องเดินทางกลับไป

ด้านนอกโบสถ์ Wasserkirche จะเห็นได้ว่าด้านหน้าของโบสถ์นั้นเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ของบาทหลวง Zwingli แกนนำในการปฏิรูปศาสนาของซูริค

ด้านในโบสถ์ Wasserkirche

โถงด้านหน้าของโบสถ์ที่มักจะมีคนมาเล่นดนตรีเปิดหมวกเป็นประจำ

เชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงใช้พลังงานในการเดินเที่ยวกับผมจนเหนื่อยแล้ว ผมขอชวนทุกคนทานอะไรกันหน่อยครับ ชาวซูริคมีเมนูท้องถิ่นตัวหนึ่งที่ภูมิใจนำเสนอเป็นเมนูประจำรัฐกันเลยทีเดียวก็คือ “Zürcher Geschnetzeltes” หรือเนื้อหั่นชิ้นผัดกับซอสครีมเห็ด พริกไทยดำ หอมใหญ่ และไวน์ขาวนั่นเองครับ ซึ่งมักจะเสิร์ฟมาคู่กับ “Rösti” หรือมันฝรั่งขูดเป็นฝอยแล้วนำมาจี่บนกระทะให้เป็นแผ่นใหญ่ คล้าย ๆ hash brown แต่เป็นสไตล์สวิส รสชาติจะออกเค็มนำแต่กลมกล่อมใช้ได้ เหมาะทานกับไวน์แดงเพื่อเพิ่มความอร่อย

Zürcher Geschnetzeltes

(ภาพจาก: https://www.bettybossi.ch/de/Rezept/ShowRezept/BB_FLFI140804_0017A-40-de)

ส่วนอีกเมนูนี่จะไม่พูดถึงก็ไม่ได้เลย ผู้อ่านคงจะจำเรื่อง event ชวนพระกินไส้กรอกที่นำไปสู่การปฏิรูปศาสนาที่ผมเล่าไปข้างต้นได้ไหมครับ ไส้กรอกสูตรในวันนั้นได้ชื่อว่า “Zwingli-Wurst” ซึ่งที่มาของชื่อก็มาจากชื่อบาทหลวง Zwingli ที่เป็นหนึ่งในแกนนำปฏิรูปศาสนานั่นเอง ปัจจุบันสามารถหากินได้ทั่วไปในซูริค ในรูปที่ผมนำมาแสดงด้านล่างนี้เป็น Zwingli-Wurst ของร้าน “Zeughauskeller” ซึ่งเคยเป็นคลังอาวุธเก่าของซูริค

แบบจำลองหน้าไม้ Wilhelm Tell วีรบุรุษแห่งชาติ (Nationalheld) สวิส ที่ประดับไว้บนผนังร้าน Zeughauskeller

เมื่อทานกันอิ่มแล้วผมขอพาทุกท่านออกมาเดินย่อยกันหน่อยครับ ถัดจากร้าน Zeughauskeller เมื่อเดินทอดน่องไปซักพัก เราจะเจอกับตรอกเล็ก ๆ ที่มีบ้านที่ยังคงสภาพหน้าต่างไม้โบราณแกะสลัก (แบบ bay window) ไว้ในสภาพดีและมีสีสันเรียงราย ตรอกแห่งนี้จะดูสวยสดงดงามเป็นพิเศษ และกลายมาเป็นมุมมหาชนในทันทีในช่วงงานวันชาติสวิส (1 สิงหาคมของทุกปี) เพราะจะมีการประดับธงชาติขนาดใหญ่ไว้ตามบ้าน ตรอกนี้มีชื่อว่า “Augustinergasse” ซึ่งมีที่มาจากโบสถ์ “Augustinerkirche” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นั้นเอง

บรรยากาศช่วงเทศกาลวันชาติที่ Augustinergasse

จบไปแล้วนะครับ สำหรับ “โม้ไปเรื่อยเรื่องซูริค” ในวันนี้ หวังว่าเรื่องราวที่นำมาเล่าสู่กันฟังจะให้ความสนุกแก่ผู้อ่าน ส่วนตัวผมตอนนี้เริ่มจะคอแห้งนิดหน่อย (เนื่องจากโม้นาน) แต่โชคดีที่ซูริคยังมีอีกเรื่องนึงที่ผมประทับใจนั่นก็คือแหล่งน้ำสะอาดดื่มได้ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วเมือง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำดื่มติดตัวเลย และเมืองซูริคนี้เองก็มีน้ำพุดื่มได้ถึง 1200 แห่งตั้งอยู่ทั่วเมืองครับ ซึ่งอาจจะมากที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ผมขออนุญาตพักดื่มน้ำซักแปป ก่อนที่จะลาจากกันไป แล้วถ้ามีโอกาส ผมจะนำเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสวิตเซอร์แลนด์มาแชร์และแลกเปลี่ยนกันใหม่ ขอขอบคุณที่อ่านมาจนจบนะครับ สวัสดีครับ

น้ำพุในย่านเมืองเก่า (Altstadt) ของซูริค (ภาพจาก: https://www.zuerich.com/de/besuchen/1200-brunnen)

บรรยากาศฤดูใบไม้ร่วงที่สวนสาธารณะ Platzspitz Park ของซูริค

LATEST

BLOG

งาน Thai Festival ครั้งที่ 25 ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ภาพบรรยากาศพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ณ สถานเอกอัครราชทูต​ไทยในกรุงเบิร์น
ม.ศิลปากร เปิดคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาเยอรมันเบื้องต้นฟรี!
รวม 10 ทุนเรียนต่อต่างประเทศ
รับสมัครคณะกรรมการรุ่นที่ 13