Published December 20, 2023

แนะนำตัว

Grüezi mitenand! สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน 😊 วันนี้ผมจะมาแชร์ประสบการณ์การศึกษาระดับปริญญาโทสาขานิติศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัยซูริค (Universität Zürich) ก่อนจะเข้าเนื้อหาผมขออนุญาตแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมชื่อฐิติวุฒิ เตชะพันธุ์ ชื่อเล่นชื่อตุลย์ครับ ผมได้รับทุนการศึกษาของ ก.พ. ที่จัดสรรให้ตามความต้องการของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นทุนพัฒนาบุคลากรที่เป็นข้าราชการ (ของกระทรวงการต่างประเทศ) อยู่แล้ว ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทนิติศาสตร์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทุนที่ผมได้รับนั้นกำหนดให้ศึกษาโดยเน้นกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law) หรือกฎหมายที่ใช้ควบคุมกำกับการกระทำของรัฐ/ผู้ทำการรบ (belligerents) เมื่อเกิดการขัดกันด้วยอาวุธ (armed conflict) ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีลักษณะระหว่างประเทศ (international armed conflict) หรือความขัดแย้งที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศ (non-international armed conflict) เพื่อลดผลกระทบทางมนุษยธรรมอันเกิดจากการสู้รบและพิทักษ์เหยื่อของสงคราม

ทำไมต้องเป็นสวิตเซอร์แลนด์?

เหตุผลที่ผมเลือกไปศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ก็เพราะอยากใช้ความรู้ภาษาเยอรมัน (และภาษาอังกฤษ) ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์และ advance ให้ดียิ่งขึ้นไป ที่สำคัญ สวิตเซอร์แลนด์ก็ยังเป็นประเทศต้นกำเนิดของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วยครับ โดยนักคิดในยุคแรกที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการถือกำเนิดของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเลยก็คือ นายฌอง ฌากส์ ฆูโซ (Jean-Jacque Rouseau) นักปรัชญาชาวสวิสนามอุโฆษผู้กล่าวไว้ในงานประพันธ์ตัวเองที่ชื่อว่า “สัญญาประชาคม” (Du contrat social) ว่า ในสงคราม คนที่รบกันจริง ๆ แล้วก็คือ รัฐรบกับรัฐ ไม่ใช่ปัจเจกรบกับปัจเจก เมื่อใดก็ตามที่มีทหารวางเครื่องแบบหรือทิ้งปืนยอมจำนนแล้ว เขาก็เป็นแค่คนธรรมดา จะไปเข่นฆ่าอีกไม่ได้ ที่เขาต้องสู้กันนั้นเป็นเพราะรัฐสั่งให้เขามาสู้ ไม่ใช่เพราะความแค้นส่วนตัว ต้องปฏิบัติต่อเขาโดยถือว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่ศัตรู ต่อมาในยุคหลังผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งกาชาดและริเริ่มการร่างอนุสัญญาเจนีวาปี 1864 ว่าด้วยการดูแลรักษาทหารผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยในสนามรบ (Convention for the Amelioration of the Condition of the Wounded in Armies in the Field) อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ นายอังรี ดูนังต์ (Henri Dunant) ชาวสวิส ซึ่งผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงรู้จักชื่อนี้กันดี

นายอังรี ดูนังต์ (Henri Dunant)

แนะนำมหาวิทยาลัยและหลักสูตร

มหาวิทยาลัยซูริคก่อตั้งขึ้นในปี 1833 โดยมีคณะเทววิทยา คณะนิติศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์เป็น 3 คณะแรกของมหาวิทยาลัย ถึงจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ (มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์คือมหาวิทยาลัยบาเซิล (Universität Basel)) แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกสุดของยุโรปที่ไม่ได้ก่อตั้งโดยเจ้าผู้ปกครองหรือคริสตจักร แต่ก่อตั้งโดยรัฐที่เป็นประชาธิปไตย ศิษย์เก่าผู้มีชื่อเสียงของที่นี่ก็ได้แก่ อัลแบร์ต ไอน์ชไตน์ (Albert Einstein) ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ โรซา ลุกเซมบวร์ก (Rosa Luxemburg) นักทฤษฎีมาร์กซิสม์ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี รวมถึง วิลเฮล์ม เรินต์เกน (Wilhelm Röntgen) ผู้ค้นพบรังสี X-ray เพื่อประโยชน์แก่การแพทย์ในปัจจุบัน เป็นต้น

หลักสูตรที่ผมเลือกนั้นเป็นหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต เน้นกฎหมายมหาชน (Master of Law UZH mit Schwerpunkt Öffentliches Recht) ของมหาวิทยาลัยซูริค ซึ่งมีระยะเวลาศึกษา 3 เทอม (1 ปีครึ่ง) และก็สอดคล้องกับเงื่อนไขทุนฯ เพราะครอบคลุมการเพิ่มพูนความรู้ขั้นสูงทั้งในด้านกฎหมายมหาชนภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหลักสูตรนี้มีการเรียนการสอนทั้งที่เป็นภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ แต่โดยส่วนใหญ่เป็นภาษาเยอรมัน ส่วนภาษาอังกฤษจะใช้ในวิชากฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเปรียบเทียบเป็นหลัก

อาคารหลัก (Hauptgebäude) ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยซูริค (Credit ภาพ: https://www.media.uzh.ch/dam/jcr:00000000-11f4-f26f-ffff-ffff91f2bf6c/KOL-04b.jpg)

การเรียนการสอนในรั้วคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยซูริค

จากประสบการณ์ของผมเอง รูปแบบการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซูริคมีทั้งแบบ lecture ยาวกับแบบให้ไปอ่าน reading assignment เกี่ยวกับเนื้อหาหลักกฎหมาย คำพิพากษาของศาล คำตัดสินของหน่วยงานทางปกครอง หรือบทความเกี่ยวกับปัญหา/ความท้าทายในทางปฏิบัติของกฎหมายที่ใช้บังคับจริงอยู่มา แล้วมาอภิปรายกันในห้องแบบเต็มชั่วโมง โดยอาจารย์จะกระตุ้นให้นักศึกษาที่เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยถกเถียงกันอย่างอิสระ ผิด/ถูกไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ถือเป็นการเสียหน้า สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การหาข้อคล้อยข้อค้านที่ชัดเจน และแสวงหา statement ที่ (แม้อาจจะไม่ถูกต้อง 100% และยัง debatable แต่) มีเหตุมีผลและเป็นที่ยอมรับกัน ทั้งนี้ อาจารย์จะเอาสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นปัญหา (aktuelle umstrittene Frage) มาให้นักศึกษาได้วิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างทั่วถึงแบบ update สัปดาห์ต่อสัปดาห์ การมาศึกษาที่นี่ในช่วงแรก ๆ ต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร เพราะอาจารย์แต่ละท่านจะไม่เจาะลึกเนื้อหาและนำองค์ความรู้แบบสำเร็จรูปมาถ่ายทอดให้นักศึกษา แต่จะปูพื้นฐานทางทฤษฎีและที่มาทางประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ของหลักกฎหมายต่าง ๆ อย่างพอสังเขป จากนั้นจะ guide และวางกรอบความคิดให้นักศึกษาเข้าถึงองค์ความรู้และนำไปใช้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้นักศึกษาเคว้งและหลงทิศหลงทางเมื่อต้องไปศึกษาตำราต่อด้วยตัวเอง การศึกษาคำบรรยายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการนำความรู้ไปใช้จริง ต่อยอด และทำข้อสอบได้โดยปราศจากการวิเคราะห์ ทบทวน และตกผลึกองค์ความรู้ต่อด้วยตัวเอง

ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ (Bibliothek der Rechtswissenschaftlichen Fakultät) ของมหาวิทยาลัยซูริค (Credit ภาพ: https://www.fotocommunity.de/photo/bibliothek-der-rechtswissenschaftlichen-fak-bstoffl/43733496)

ความท้าทายในการเรียนที่มหาวิทยาลัยซูริคนี้ยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณเพราะช่วงที่ผมไปศึกษานั้น (2020-2021) เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ผมจำได้ว่า ในเทอมแรกเมื่อเข้าเรียนในห้องเรียนตามปกติได้ 3 สัปดาห์ทางมหาวิทยาลัยก็ประกาศให้เปลี่ยนการเรียนการสอนไปเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด และเหตุการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในภาคเรียนที่ 2 เมื่อสถานการณ์มีทีท่าเหมือนจะดีขึ้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในสวิตเซอร์แลนด์ก็กลับทะยานสูงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ทางมหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจดำเนินการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมดไปจนสิ้นเทอม 3 ของผมในปี 2021 นั่นหมายความว่า โอกาสในการถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นก็ยิ่งน้อยลงไปอีก และยิ่งต้องทุ่มเทให้กับการอ่านตำราและบทความทางวิชาการที่หลากหลายมากขึ้นไปอีก ถึงผมจะมีพื้นฐานภาษาเยอรมันในระดับที่เพียงพอต่อการใช้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศที่ใช้ภาษานี้มาก่อนแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นเมื่อต้องมาเรียนรู้บรรดาศัพท์เทคนิค การอ่านตำรากฎหมายรวมถึงการเขียนงานนิติศาสตร์ (juristische Arbeit) เป็นภาษาเยอรมัน ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พอสมควรและที่สำคัญ… ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก และต้องใช้ความมานะอุตสาหะยิ่งกว่าเจ้าของภาษา

การสอบวัดผล

เราจะเห็นความท้าทายนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อการบรรยายในห้องเรียนทั้งหมดจบลงและทุกคนต้องเตรียมตัวเข้าสู่สนามสอบ แต่ละวิชาจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แต่การตัดเกรดของแต่ละวิชานั้นจะอิงตามกลุ่ม (อิง mean) โดยพิจารณาจากการกระจายของคะแนนที่นักศึกษาทั้งหมดทำได้ แล้วกำหนดค่ากลาง ระบบเกรดที่นี่จะแบ่งเป็น 1-6 โดย 6 คือดีที่สุด ในขณะที่ 1 คือเกรดต่ำสุด นักศึกษาทุกคนต้องทำคะแนนให้ได้อยู่ในเกณฑ์เกรด 4 จึงจะถือว่าผ่าน โดยการสอบวัดผลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตัวผมเองเจอมาแล้วทุกรูปแบบ โดยสรุปคร่าว ๆ ก็จะมีดังนี้

1. การสอบข้อเขียน (schriftliche Prüfung) เป็นวิธีที่นิยมที่สุด ผมขอยกตัวอย่างการสอบวิชากฎหมายว่าด้วยการใช้กำลังและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Recht der Gewaltanwendung und Humanitäres Völkerrecht) จะมีโจทย์มาให้ทั้งหมด 6 ข้อ ซึ่งเป็นทั้งโจทย์บรรยาย เช่น ให้นักศึกษาบรรยายถึงข้อวิจารณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นกับการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศในปัจจุบัน และโจทย์ปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง (โจทย์ตุ๊กตา) เช่น อาจารย์กำหนดโจทย์เกี่ยวกับการสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลกับกลุ่มกบฏภายในประเทศสมมุติที่ลุกลามกลายเป็นการขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศ โดยให้วินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของคู่ขัดแย้ง ความชอบด้วยกฎหมายของวิธีการรบ รวมถึงสถานะของเชลยศึกตามมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น

การสอบข้อเขียนที่นี่ไม่เหมือนไทยตรงที่จะมีตัวบทกฎหมายเตรียมไว้ให้ในห้อง (ไม่ต้องท่องไปเองเป็นรายมาตรา) แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยถ้าเราไม่ศึกษาสิ่งที่เรียนมาอย่างดีจนมีแผงวงจรพร้อมอยู่ในหัวที่สามารถใช้เดินไฟต่อตรงเข้าหาคำตอบได้ในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องไขคำตอบภายในระยะเวลาที่จำกัด นักศึกษาทุกคนมีเวลาทำข้อสอบทั้งหมด 2 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ และจะต้องจัดสรรเวลาในห้องสอบอย่างเหมาะสมเพื่อกลั่นกรองและถ่ายทอดความรู้ที่เรียนมาให้รวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจนที่สุดบนหน้ากระดาษคำตอบ บางวิชาอาจารย์จะเขียนไว้บนหัวกระดาษเลยว่า ข้อสอบมี 100 คะแนนเต็ม ถ้าทำได้ 30 ถือว่าผ่าน ใช่ครับ! 30 ถือว่าผ่าน เพราะโจทย์แต่ละข้อ แม้จะดูสั้น ๆ แต่คำตอบนั้นยาวมาก (บางข้อยาวถึง 2-3 หน้ากระดาษ) และต้องวินิจฉัยถึงขั้นว่ากฎหมายหรือสนธิสัญญาฉบับนี้มีเขตอำนาจ (Gerichtsbarkeit) ครอบคลุมข้อเท็จจริงแห่งคดีหรือไม่ เพราะเหตุใด ไปจนถึงบทสรุปแห่งคดีโดยละเอียด รวมถึงประเด็นยิบย่อยที่ถึงแม้จะเกี่ยวข้อง แต่ไม่ต้องด้วยรูปคดีก็ต้องเขียนลงไปด้วย แล้วระบุว่าไม่ต้องด้วยรูปคดี ทั้งนี้ แม้จะวินิจฉัยได้ถูกต้องครบทุกธงคำตอบก็อาจจะไม่ได้คะแนนเต็ม เนื่องจากแต่ละข้อมักจะมีการให้คะแนน “ความรู้เพิ่มเติม” (Zusatzwissen) อันเป็นเครื่องตอกย้ำว่า การเรียนในห้องอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องค้นคว้าหาความรู้จากที่อื่นเพิ่มเติมมาใส่ในข้อสอบด้วย สำหรับผมการสอบข้อเขียนที่นี่ถือว่าหินที่สุด เพราะไม่มี class สอนวิธีการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายจัดให้นักศึกษาต่างชาติ ทุกคนจะต้องขวนขวายเรียนรู้ด้วยตัวเองจากคลังข้อสอบเก่า (Prüfungsarchiv) พร้อมเฉลยที่มีให้ download จาก website ของคณะ

2. การสอบปากเปล่า (mündliche Prüfung) ใช้เวลาทั้งหมด 15 นาที โดยอาจารย์จะตั้งโจทย์ 3 ข้อ ให้นักศึกษาอธิบายข้อความคิดทางกฎหมาย คดี หรือประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงที่สอนไปในคาบเรียน รวมถึงให้แสดงความเห็นพร้อมให้เหตุผลสนับสนุน Argument ตัวเอง ยกตัวอย่างคำถาม เช่น ในการสอบวิชาความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (Internationale Rechtshilfe in Strafsachen) อาจารย์ได้ให้ผมอธิบายปัญหาทางกฎหมายในกรณีการส่งมอบเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายไปยังรัฐต้นทาง (Rückerstattung illegaler Potentatengelder) ในกรณีที่ผู้นำทางการเมืองได้มาด้วยการคอร์รัปชั่นและได้มาฝากไว้ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ได้หมดอำนาจลงในภายหลัง โดยให้ยกตัวอย่างกรณีนาย Jean-Claude Duvalier อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไฮติ

3. ข้อสอบ take-home (Hausarbeit) ซึ่งเป็นข้อสอบแบบ open book อาจารย์จะให้โจทย์เป็นข้อความคิดทางกฎหมายที่สอนในห้องเรียนมา และให้นักศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ (tatsächliches Problem) ของข้อกฎหมายนั้น ๆ รวมถึงเสนอทางแก้ทางกฎหมาย (rechtliche Lösung) อย่างมีนวัตกรรมและสร้างสรรค์ (innovativ) โดยนักศึกษาจะได้รับโจทย์ทางอีเมลในตอน 8.00 น. และมีเวลาทั้งหมด 16 ชั่วโมงในการวิเคราะห์ เรียบเรียงความคิด และเขียนออกมาเป็นเรียงความ (Aufsatz) ไม่เกิน 5 หน้ากระดาษ แล้วส่งอาจารย์กลับไปทางอีเมล ยกตัวอย่างโจทย์ที่ผมได้รับกำหนดให้ต้องอภิปรายถึงปัญหาและทางแก้ของงานลิขสิทธิ์ที่หาเจ้าของไม่ได้ (verwaiste Werke หรือ orphan works ในภาษาอังกฤษ) ในการสอบวิชากฎหมายข้อมูลและการสื่อสาร (Informations- und Kommunikationsrecht)

4. การวิจารณ์คำตัดสินในคดีที่กำหนดให้และนำเสนอในชั้นเรียน (Fallkommentare und Präsentation) อาจารย์จะมอบหมายให้นักศึกษาไปอ่านคำตัดสินของศาลหรือหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง แล้วให้เขียนอภิปรายถึงประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบังคับว่าต้องให้ความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่กับคำตัดสินนั้นพร้อมเหตุผล แล้วนำเสนอในชั้นเรียนก่อนจะเปิดโอกาสให้อาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นได้ร่วมถกเถียงและตั้งคำถามในประเด็นที่สงสัย ยกตัวอย่าง case ที่ผมได้รับมอบหมายในวิชากฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Wettbewerbsrecht) คือ คำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสวิส (Wettbewerbskommission) ในคดีที่ที่เกี่ยวกับบริการหลังการขายภายหลังการซื้อนาฬิกาชื่อดังของสวิตฯ (Service Après-Vente für Uhren) ซึ่งถูกร้องเรียนว่า การตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ในการคัดเลือกหุ้นส่วน (Partner) เข้ามาประกอบการนั้นเป็นการกีดกันการแข่งขันทางการค้าที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยในคดีนี้นอกจากจะต้องศึกษาคำตัดสินของฝ่ายสวิสแล้ว ยังจะต้องศึกษาคำตัดสินของศาล EU และคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ด้วย เนื่องจากมีการฟ้องร้องในข้อเท็จจริงเดียวกัน และในคำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสวิสก็มีการตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับ EU (europakompatible Auslegung) เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เพราะถึงแม้สวิตเซอร์แลนด์จะไม่ใช่รัฐสมาชิก EU แต่ในทางเศรษฐกิจการค้านั้นต้องพึ่งพา EU อยู่มาก

การทำวิทยานิพนธ์

หลังจากที่เราทุ่มเทให้กับการเรียนในภาคเรียนที่ 1 และ 2 อย่างหนักไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องลงมือเขียนวิทยานิพนธ์ในเทอมสุดท้ายเพื่อจบการศึกษา ซึ่งผมตัดสินใจที่จะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของตัวเองและก็ยังสอดคล้องกับทุนการศึกษาด้วย และหัวข้อที่ผมเลือกก็คือ “การขัดกันด้วยอาวุธระหว่างประเทศในอวกาศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” (International armed conflict in outer space and international humanitarian law) ซึ่งจริง ๆ แล้วการทำสงครามในอวกาศไม่ได้มีเฉพาะในภาพยนตร์ และก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น โดยสหรัฐและโซเวียตเป็น 2 ประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองและแสดงแสนยานุภาพของอาวุธต่อต้านดาวเทียม (anti-satellite weapon) ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ในปัจจุบันหลายประเทศโดยเฉพาะมหาอำนาจได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีในการทำการรบในอวกาศและถือว่าพื้นที่อวกาศเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ (operational domain) ทางทหารแห่งใหม่ในการพิทักษ์ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตัวเอง รวมถึงกองทัพอากาศของไทยเองก็ได้ก่อตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศ” เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562 ดังนั้น การทำสงครามในอวกาศจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross) เองก็ได้เน้นย้ำไว้ใน position paper “The Potential Human Cost of the Use of Weapons in Outer Space and the Protection Afforded by International Humanitarian Law” ถึงความจำเป็นของภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศที่จะต้องอภิปรายและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับปฏิบัติการทางทหารในอวกาศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

แวะถ่ายรูปกับวิทยานิพนธ์หน้าตึกคณะ

เมื่อได้หัวข้อแล้วเราก็ต้องเขียนข้อเสนอวิทยานิพนธ์ (Themenvorschlag) โดยต้องเขียนเป็น “Exposé” หรือ description ย่อ ๆ (ย่อมาก) เกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ที่เราจะเขียน โดยส่วนใหญ่จะประกอบด้วยบทคัดย่อ (Abstract) ที่มาและสภาพของปัญหา (Hintergrund und Fragestellung) สมมุติฐาน (Hypothese) โครงสร้างวิทยานิพนธ์ (Gliederung der Arbeit) บรรณานุกรม (Literaturverzeichnis) รวมถึงแผนการทำงาน (Arbeitsplan) ซึ่งน่าจะเป็นงานถนัดของนักศึกษาสายย่อ เพราะโดยมากอาจารย์มักกำหนดความยาวไม่เกิน 1-2 หน้ากระดาษเท่านั้น เน้นกระชับและได้ใจความ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากมากนัก เพราะเมื่อตัดสินใจเลือกหัวข้อได้ เราก็ศึกษาตำรา งานวิจัย รายงานขององค์การระหว่างประเทศ และบทความในวารสารวิชาการที่มีข้อถกเถียงที่ยังไม่มีข้อยุติอยู่เยอะ จึงมีโครงสร้างของวิทยานิพนธ์ รวมถึงวิธีการ approach ปัญหาและ solution ในหัวที่ชัดเจนพอสมควร ด้วยความที่วิชากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยซูริคนั้นสอนเป็นภาษาเยอรมัน เลยเขียนข้อเสนอวิทยานิพนธ์เป็นภาษาเยอรมันไป แต่พอได้พูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วก็เห็นด้วยกับคำแนะนำของอาจารย์ว่าเขียนเป็นภาษาอังกฤษดีกว่า เพราะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและยังเป็นประโยชน์ต่อการอ้างอิงสำหรับผู้สนใจท่านอื่นที่ไม่ได้เรียนภาษาเยอรมันอีกด้วย

ถึงแม้จะมีโครงสร้างในหัวที่ค่อนข้างชัดเจนดังที่กล่าวไป แต่เมื่อต้องมาลงมือเขียนเนื้อหาจริง ๆ ทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ เพราะเป็นงานที่ต้องบูรณาการความรู้หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กฎหมายอวกาศ ความรู้เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาวะในอวกาศเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาก็เน้นการอภิปรายถึงปัญหาในทางปฏิบัติของหลักกฎหมาย การหา solution at technical level และให้ความเห็นของเราเองต่อประเด็นถกเถียงทางวิชาการที่ยังไม่มีข้อยุติเป็นสำคัญ จึงต้องค้นคว้าอย่างเข้มข้นและจัดหนักจัดเต็มเพื่อทำให้ argument ของเรามีเหตุผลสนับสนุนหนักแน่นที่สุด โดยสรุปวิทยานิพนธ์ของผมนั้นมุ่งเน้นการอภิปรายใน 5 หัวข้อด้วยกันอันเป็น highlight กล่าวคือ (1) กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสามารถเอาไปปรับใช้ในการรบพุ่งกันในอวกาศได้หรือไม่ อย่างไร? (2) สถานะของพลรบอวกาศ (military astronauts) ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (3) ความชอบด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของการติดตั้งอาวุธพิฆาต kinetic bombardment ในวงโคจรโลกเพื่อโจมตีเป้าหมายบนพื้นพิภพ (4) ความชอบด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของการทำลายดาวเทียมที่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการทหารและประโยชน์ต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน (dual-use satellites) และ (5) เขตอำนาจของรัฐและศาลอาญาระหว่างประเทศในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกรณีที่มีการละเมิด ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ของผมนั้น ตามกฎของคณะกำหนดให้เขียน 60-75 หน้า

การจัดทำวิทยานิพนธ์ที่นี่อาจารย์จะเพียงมี guideline ที่กล่าวถึง format โครงสร้าง และคำแนะนำวิธีในการเข้าถึงปัญหาโดยคร่าวเท่านั้น นอกเหนือไปจากนั้นอาจารย์จะปล่อยให้นักศึกษามีอิสระในการค้นคว้าเต็มที่ เมื่อมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในเรื่องตำราจึงจะติดต่อสอบถามอาจารย์ผ่านทาง Email ซึ่งในช่วงนั้นผม (เช่นเดียวกับนักศึกษาคนอื่น ๆ) ก็ไม่ได้มีโอกาสในการ discuss กับอาจารย์มากนัก (เพราะเป็นช่วง COVID) และอาจารย์ก็ไม่รับตรวจทาน ให้ความเห็นต่อร่างวิทยานิพนธ์ที่ยังไม่เสร็จอีกด้วย คือรู้ผลตอนคะแนนออกทีเดียว และไม่มีการสอบ defend วิทยานิพนธ์ตัวเอง นักศึกษาจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้งานเขียนของตนออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด จากประสบการณ์ทั้งการเรียนและการสอบที่กล่าวมาทั้งหมด เราจะเห็นภาพหลักธรรมทางศาสนาที่สามารถใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นกำลังใจให้ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหมดทั้งมวลนี้ไปให้ได้ก็คือภาษิต “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” (ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน) และชีวิตนักศึกษาต่างชาติจากประเทศไทยคนหนึ่งที่เข้ามาเรียนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นี้ ก็อาจจะเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Revenant” (ต้องรอด) ภาค 2 ได้เลย

สำเร็จการศึกษา

แต่ในที่สุด ความพยายามทั้งหมดที่ใช้ในการฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายก็ไม่สูญเปล่าเมื่ออาจารย์ส่ง Email กลับมาแจ้งว่า วิทยานิพนธ์ที่เราทำไปนั้นได้รับการประเมินในระดับ “excellent” และได้เกรด 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ก็มีส่วนสำคัญในการที่ทำให้สำเร็จการศึกษาโดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 (magna cum laude) การคำนวณเกรดเฉลี่ยรวมของมหาวิทยาลัยซูริคนั้นคิดจากคะแนนสอบไล่ทุกวิชาและวิทยานิพนธ์รวมกัน และถ้าได้เกรดรวมเฉลี่ย 5.0 และ 5.5 ขึ้นไป จะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 และเกียรตินิยมอันดับ 1 (summa cum laude) ตามลำดับ

พิธีฉลองสำเร็จการศึกษา (Abschlussfeier) ของมหาวิทยาลัยซูริคในปีนี้ (2021) นั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยคณบดีและศิษย์เก่าผู้ทรงคุณวุฒิของคณะนิติศาสตร์และมีชื่อเสียงในวงการจะเป็นผู้มาให้โอวาทแก่บัณฑิต/มหาบัณฑิต ตามด้วยการกล่าวสุนทรพจน์และแสดงวิสัยทัศน์ของบัณฑิตที่อายุน้อยที่สุดในรุ่น ก่อนจะตบท้ายด้วยการแสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนั้นนักศึกษาจะไม่ได้รับมอบปริญญาบัตรจากผู้บริหารคณะ แต่เป็นโต๊ะลงทะเบียนที่ hall ด้านหลังเวทีซึ่งมีการจัดเลี้ยงให้บรรดาญาติมิตรได้ฉลองและแสดงความยินดีร่วมกันด้วย

ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับการแชร์ประสบการณ์การไปศึกษาระดับปริญญาโทนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซูริค มาถึงตรงนี้ผมก็ขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่าน และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็นัอย สำหรับผู้ที่สนใจ ในปีนี้เอง (2021) มหาวิทยาลัยซูริคได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทหลักสูตรใหม่โดยเน้นกฎหมายเปรียบเทียบและกฎหมายระหว่างประเทศ (Master of Law UZH International and Comparative Law) โดยภาษาที่ใช้ในการสอนจะเป็นภาษาอังกฤษ 100% ซึ่งสามารถไปดูรายละเอียดที่ link นี้ได้เลยครับ: https://www.ius.uzh.ch/en/studies/master/emlaw0.html

และเมื่อโอกาสเอื้ออำนวยอีกครั้ง ผมก็ยินดีมาแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้ทุกท่านรับทราบกันอีกครั้งครับ สวัสดีครับ

LATEST

BLOG

งาน Thai Festival ครั้งที่ 25 ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ภาพบรรยากาศพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ณ สถานเอกอัครราชทูต​ไทยในกรุงเบิร์น
ม.ศิลปากร เปิดคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาเยอรมันเบื้องต้นฟรี!
รวม 10 ทุนเรียนต่อต่างประเทศ
รับสมัครคณะกรรมการรุ่นที่ 13